7 คำถามทดสอบทัศนะคติตอนสัมภาษณ์งาน พร้อมวิธีตอบอย่างมีกึ๋น

ตอบสัมภาษณ์งานอย่างไรให้ดูฉลาดมีไหวพริบ จนผู้สัมภาษณ์อยากรับเข้าทำงาน? ลองฝึกด้วยคำถามเหล่านี้ เพิ่มกึ๋นให้ตัวเองก่อนลงสนามจริง! 

ขั้นตอนการสัมภาษณ์งานถือเป็นการเก็บคะแนนครั้งใหญ่ เพราะผู้สัมภาษณ์จะได้เห็นทัศนคติและบุคลิกของคุณได้ชัดเจน ดังนั้นคำถามก็จะเปิดกว้างเพื่อให้คุณได้แสดงทัศนคติออกมาได้แบบไม่จำกัด

แต่จะตอบคำถามอย่างไรให้ดูเฉลียวฉลาด มีไหวพริบ มีกึ๋น และมีไฟ วันนี้ CTO Solution มีคำถามและคำตอบให้คุณได้ลองฝึกซ้อมกันก่อนลงสนามจริง

คำถามที่ 1 

ถ้าคุณได้เข้ามาทำงานในองค์กรนี้ คุณจะเลือกทำงานแบบไหนระหว่าง… แบบที่ 1 คือทำงาน ABC ทุกวัน หรือ แบบที่ 2 คือวันที่ 1 ทำงาน ABC วันที่ 2 ทำงาน XYZ วันที่ 3 ทำงาน 1234  

วิเคราะห์คำถามและคำตอบ 

คำถามนี้ต้องการทดสอบว่าคุณชอบความท้าทายมากแค่ไหน

  • ตอบแบบที่ 1 คุณกลัวงานยาก ไม่ชอบทำอะไรใหม่ ๆ ชอบทำงานแบบเดิมซ้ำ ๆ ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลงและความท้าทาย 
  • ตอบแบบที่ 2 คุณชอบความท้าทาย อยากทำในสิ่งใหม่ ๆ อยากรู้อยากลอง ชอบแก้ปัญหา และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ 

คำถามที่ 2

คุณเคยทำงานหรือทำโปรเจกต์แล้วเกิดผิดพลาดบ้างไหม แล้วเกิดอะไรขึ้น ช่วยเล่าให้ฟังด้วย  

วิเคราะห์คำถามและคำตอบ คำถามนี้ต้องการทดสอบว่าคุณสามารถวิเคราะห์ตัวเองได้หรือไม่

  • ควรเล่าถึงความผิดพลาดของตัวเองพร้อมทั้งวิธีที่คุณแก้ปัญหาด้วย เพราะและหากคุณเล่าแต่ปัญหา โดยไม่ได้พูดถึงวิธีแก้ไขเลยก็จะแสดงให้เห็นว่าคุณจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเองได้หากต้องเผชิญกับมัน

คำถามที่ 3

หากว่าโปรเจกต์ติดปัญหา เช่น เขียนโปรมแกรมแล้วมีปัญหา รันไม่ได้ คุณจะทำอย่างไร 

วิเคราะห์คำถามและคำตอบ คำถามทดสอบว่าคุณมีวิธีจัดการกับปัญหาอย่างไร

  • ไม่รู้ อันนี้คือจบข่าวเลย เพราะไม่พยายามแม้แต่จะคิด เมื่อเจอปัญหาก็แก้ไขเองไม่ได้ แล้วพวกเขาจะจ้างคุณมาแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ยังไงล่ะ
  • ให้รุ่นพี่ที่ทำงานช่วย ตอบแบบนี้ถือว่าดีกว่าตอบไม่รู้ อาจจะได้คะแนนบ้าง แต่ไม่ได้ใจผู้สัมภาษณ์ 
  • ควรตอบว่า ผมจะหาวิธีแก้ไขปัญหานั้นด้วยการค้นหาใน Google ก่อน ดูว่ามีคนเจอเรื่องแบบนี้มาก่อนมั้ย จากนั้นก็นำมาปรับใช้กับปัญหาของตัวเอง แต่ถ้ายังไม่ได้อีก แถมเวลายังกระชั้นเข้ามาจนอาจกระทบกับไทม์ไลน์อื่น ๆ ของโปรเจกต์ก็จะไปปรึกษากับเพื่อน ๆ พี่ทีมงาน  ตอบแบบนี้แสดงให้เห็นว่าคุณพยายาม ไม่ได้หวังแต่จะพึ่งพาคนอื่น อยากพัฒนาตัวเอง มีความรับผิดชอบ ไม่ยอมให้คนอื่นมาเดือดร้อนกับหน้าที่รับผิดชอบตัวเอง และยังมองภาพใหญ่ ไม่ยอมให้แผนใหญ่ที่วางเอาไว้เสียหาย 

คำถามที่ 4

ถ้าต้องไปพบกับ User หรือลูกค้า แล้วลูกค้าขอให้ช่วยแก้โปรแกรมหน้าจอนี้หน่อย คุณจะแก้เลยมั้ย และควรตอบว่าอย่างไร เพราะโปรเจกต์นี้ทำร่วมกันเป็นทีม คุณไม่ได้รับผิดชอบคนเดียว

วิเคราะห์คำถามและคำตอบ คำถามนี้ทดสอบทักษะการทำงานเป็นทีมและไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

  • ได้ครับ แล้วแก้ให้ลูกค้าทันที หากตอบแบบนี้ คุณตกสัมภาษณ์แน่นอน เพราะคุณแสดงให้เห็นว่าไม่ได้สนใจการทำงานเป็นทีมเลย และการแก้งานครั้งนั้นอาจกระทบกับงานที่คนอื่นดีไซน์หรือวางแผนเอาไว้ ซึ่งเพื่อนร่วมงานของคุณอาจมีเหตุผลที่ต้องทำแบบนี้ หากไปแก้ส่วนนี้ก็อาจกระทบกับส่วนอื่นที่เชื่อมโยงกันอยู่เป็นทอด ๆ 
  • ไม่ได้ครับ ต้องไปถามหัวหน้าก่อน หากตอบแบบนี้ผู้สัมภาษณ์จะมองว่าคุณไม่มี Soft Skill อาจทำให้ User หรือลูกค้าไม่พอใจจนกลายเป็นปัญหาเพิ่มอีก 
  • ควรตอบว่า ได้ครับ เดี๋ยวทางผมจะรับเรื่องนี้เอาไว้ ขอเวลาไปปรึกษาทีมงานก่อนว่ามันจะกระทบกับส่วนอื่น ๆ  หรือกระทบกับไทม์ไลน์ของแผนงานที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ แล้วเดี๋ยวจะเร่งแก้ไขให้นะครับ การตอบแบบช่วยลดความไม่พอใจลูกค้าได้ แถมยังไม่สร้างปัญหาจากการแก้ไขงานโดยไม่ปรึกษาทีมได้ด้วย เรียกว่าบัวไม่ชำน้ำไม่ขุน ไม่โดนลูกค้าต่อว่า หัวหน้าและทีมก็ไม่ว่า แถมยังไม่สร้างปัญหาเพิ่มโดยไม่รู้ตัวอีก 

คำถามที่ 5

คุณคิดอย่างไร หากต้องเจอแต่งานที่ยาก ๆ เสมอ  

วิเคราะห์คำถามและคำตอบ คำถามนี้ทดสอบความกระตือรือร้นและชอบความท้าทายหรือไม่

  • ไม่ไหวแน่เลยครับ ตอบแบบนี้เตรียมตัวกลับบ้านได้เลย ไม่รอด ไม่ต้องอธิบายเพิ่มเลยว่าทำไมถึงไม่ผ่านเกณฑ์ 
  • ดีครับ ชอบครับ จะได้ไม่น่าเบื่อ ถ้าจบแค่นี้ อนาคตที่นี่ก็จบเช่นกัน เพราะดูออกว่า Fake ไปหน่อย ดีแต่พูดเพื่อเอาใจคนอื่น พอถึงเวลาจริงก็อาจทำไม่ได้ 
  • ควรตอบแบบไม่โกหก มันคงจะเหนื่อยหน่อยนะครับ แต่ผมก็มองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยทำ และถ้าทำได้สำเร็จ ผมก็จะเก่งขึ้นด้วยครับ แต่ว่าระหว่างที่ได้ลองทำ มันอาจจะมีช้าบ้าง ขรุขระบ้างนะครับ แต่ถ้าพี่ ๆ ให้โอกาส ผมก็จะพยายามให้เต็มที่ ทำจนสุดความสามารถครับ 

คำถามที่ 6 

หากมีงานด่วนเข้ามา 10 อย่างพร้อมกัน คุณจะจัดการงานทั้ง 10 นี้อย่างไร 

วิเคราะห์คำถามและคำตอบ คำถามนี้ทดสอบการจัดลำดับความสำคัญของงาน

  • ดูว่าใครสั่งครับ ใครตำแหน่งใหญ่กว่าก็ทำอันนั้นก่อน หากตอบแบบนี้คือไม่รอด เพราะงานแต่ละงานมีความสำคัญไม่เท่ากัน แถมยังดูเอาใจหัวหน้าตำแหน่งใหญ่มากไปหน่อย 
  • วิธีตอบที่ดีที่สุดคือ ผมจะดูลำดับความสำคัญของงานก่อนครับ งานไหนต้องใช้ก่อนก็ต้องทำงานนั้นก่อน หรืองานไหนที่ต้องเอาไปต่อจากเราก็ควรเลือกทำอันนั้นก่อน คนอื่นจะได้รันงานต่อได้ งานจะได้ไม่กระจุกที่ผมคนเดียว ถ้ารอผมคนเดียว งานก็จะไม่เดิน จากนั้นผมก็จะเลือกจากระยะเวลาการทำงาน อันไหนใช้เวลามากก็ขอเอาไว้ลำดับท้าย ๆ ทำงานเสร็จไวก่อน งานจะได้คืบหน้า 

คำถามที่ 7

ถ้าให้ประเมินเวลาการทำงาน โดยที่ยังไม่รู้รายละเอียดของงาน ควรจะประเมินว่าต้องใช้เวลาเท่าไรดี  

วิเคราะห์คำถามและคำตอบ  คำถามนี้ทดสอบการเรื่องความรอบครอบและทักษะการประเมินความสามารถของตัวเอง

  • ถ้าตอบว่า 1 วัน หรือ 2 วัน บอกเลยว่าตกสัมภาษณ์แน่นอน เพราะถือเป็นการคาดเดา ไม่คิดหน้าคิดหลัง รับปากส่ง ๆ เพราะงานจริงอาจเยอะมากจนทำไม่ไหว หากผิดนัดก็จะส่งผลกระทบส่วนอื่น ๆ ได้ด้วย แถมยังดูมั่นใจมากเกินเหตุด้วย
  • ควรตอบว่า อันนี้ต้องลองคุยรายละเอียดทั้งหมดก่อนครับ แล้วถึงจะนำงานทั้งหมดมาประเมินได้ว่าจะต้องใช้เวลาทำงานจริง ๆ เท่าไร และบวกระยะเวลาเพิ่มอีก 20% ครับ เผื่อผิดพลาดหรือมีการแก้ไขบางอย่าง 

ผู้สัมภาษณ์ไม่ได้ต้องการคำตอบที่แสดงให้เห็นว่าคุณสามารถทำได้ทุกอย่าง ทำได้ทันที หรือคำตอบประเภทใช่หรือไม่ คุณแสดงความคิดเห็นได้แบบตรงไปตรงมาได้ หากไม่มั่นใจก็บอกออกไป แต่ก็ต้องเสริมเหตุผล พร้อมทั้งเสนอทางแก้ไปด้วย เพื่อให้เห็นว่าคุณไม่ใช่เครื่องจักร แต่เป็นคนที่มีไหวพริบ มีกึ๋น แก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง เท่านี้คะแนนรอบสัมภาษณ์ก็พุ่งสูงขึ้นแล้ว

Leave a Reply